บทความฉบับนี้อาจจะไม่สำคัญกับหลายๆท่านในปัจจุบันเท่าไหร่นัก เนื่องจากยังไม่ถึงวิกฤตยางพาราในอนาคตที่จะเกิดขึ้นอันใกล้นี้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับวงการยางพาราในครั้งนี้แน่นอน ถึงขั้นสั่นสะเทือนวงการยางพาราบ้านเราได้เลยทีเดียว ฟังดูแล้วมันจะขนาดนั้นเชียวหรือ อาจจะเป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาดได้เสมอ แต่หลายฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นโต้แย้งในบทความฉบับนี้ได้ เป็นสิ่งที่ดีมากเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการวิเคราะห์ แนวทาง คาดการณ์ ป้องกัน เตรียมการณ์ และแก้ไข ร่วมกัน ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือ อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้
ขอให้ทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน เป็นข้อมูลจากประสบการณ์จริงตั้งแต่ปี 2007-ปัจจุบัน ที่ผู้เขียนได้รวบรวมเก็บเล็กผสมน้อยไว้ นำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลภายในไทยที่ผ่านมาหลายๆปี เพื่อวิเคราะห์หาทิศทางของยางพาราในตลาดโลกว่าจะมีแนวโน้มไปทิศทางใดในอนาคตอันใกล้นี้
สืบเนื่องจากตัวผมเองได้ศึกษาระบบการค้าขายยางพาราภายในไทย มาเป็นเวลาเพียง 5-6 เดือนเท่านั้น (อาจได้ข้อมูลถูกบ้างผิดบ้างต้องขออภัยไว้ก่อน) หลังจากที่กลับมาจากการทำตลาดในประเทศจีน และเคยทำงานในประเทศเพื่อนบ้านหลายๆประเทศด้วยตนเอง คือ กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียร์ม่า และเวียดนาม จึงพบความแตกต่างจากประเทศไทยหลายประการด้วยกัน ตั้งแต่ จุดเริ่มต้นของการเพาะปลูกยางพารา วิวัฒนาการยาง การสนับสนุนจากภาครัฐ กลุ่มทุนต่างชาติ นายทุน พ่อค้ารายใหญ่ ข้าราชการ และสวนยางชาวบ้าน โดยปกติแล้วได้ทราบถึงรูปแบบการทำสวนยางพารา การค้าขาย การตลาด ภายในไทยก่อนหน้านี้อยู่แล้ว (ก่อนไปเสี่ยงโชคในต่างแดน) แต่สิ่งที่แปลกใจเมื่อกลับมา คือ ยังคงมีรูปแบบในการค้าขายยางพาราที่เป็นวงจรในรูปแบบเดิมๆ รวมไปถึงวิวัฒนาการยางพารา ที่ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัดเช่นเคย มีเพียงแต่เพิ่มขึ้นของโรงงานผลิตยางแท่ง STR20 มากกว่าแต่ก่อนเยอะในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้ง สาขาของโรงงานผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทย และโรงงานภาคเอกชน เกิดขึ้นมาใหม่หลายบริษัทด้วยกัน
ผู้เขียนขออนุญาต อธิบายประเด็นสำคัญๆ เท่านั้น ของกลุ่มประเทศ CLMV เริ่มไล่เรียงจากพื้นที่การเพาะปลูกยางพารา นโยบายการสนับสนุนของภาครัฐในแต่ละประเทศ ก่อนแล้วจะอธิบายผลกระทบที่จะมาถึงเราอย่างไร ให้ทราบในท้ายบทความนี้
C = Cambodia หรือ กัมพูชา ในประเทศนิยมปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจเหมือนกันกับประเทศไทย ส่วนใหญ่ผู้ปลูกหรือเจ้าของสวนยางจะเป็น คนร่ำรวย ผู้มีอิทธิพล นักการเมือง นักธุรกิจ แม้กระทั่ง ท่านสมเด็จฮุนเซ็น (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ก็มีสวนยางพาราด้วยเช่นกัน พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ที่ จ.สตึงเคร็ง จ.รัตนคีรี จ.กำพงทม และ จ.กำปงจาม เป็นต้น โดยจากคำบอกเล่าของเจ้าของโรงงานยางแท่งที่รู้จัก พื้นที่เพาะปลูกยางพาราในประเทศกัมพูชามีการประมาณการณ์โดยเฉลี่ยที่ 6 ล้านไร่ในขณะนั้น ตัวผมเองก็ได้เดินทางไปดูงานรวมถึงโรงงานผลิตยางแท่งของคนรู้จักกันที่ จ.กำปงจาม ในปี 2009 ช่วงนั้นสุ่มสี่สุ่มห้าไปเองไม่ได้ ต้องให้นายทหารกัมพูชามารับที่ชายแดน (ในขณะนั้นผมข้ามจากเมืองโขง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ตรงข้ามเขตพื้นที่ จ.สตึงเคร็ง ของกัมพูชา) ข้อมูลสวนยาง ต้นยางใหม่ที่นั้นเริ่มทะยอยเปิดกรีดกันแล้ว แต่ก็มียางที่เปิดกรีดมานานแล้วอยู่ไม่น้อยเช่นกัน สวนยางชาวบ้านมีบ้างแต่ก็น้อยกว่าสวนยางกลุ่มทุนต่างชาติอยู่ดี ในเวลานั้นผมและทีมงานได้มีโอกาสไปช่วยงานแนะนำเรื่องกรีดยางและการทำยางแผ่นให้กับเจ้าของสวนยางรายใหญ่ใน จ.รัตนคีรี อยู่ช่วงนึง สวนยางอื่นๆก็จะเป็นในส่วนของกลุ่มนายทุนจากต่่างประเทศซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถเข้าถึงนิคมสวนยางต่างชาติได้เลย โดยประเทศเวียดนาม สามารถสัมประทานเพาะปลูกยางพาราได้เยอะที่สุด จะอยู่ จ.รัตนคีรี เป็นหลัก รองลงมา จ.กำปงจาม จ.กำปงทม เป็นต้น ในขณะที่ จ.รัตนคีรี มีชายแดนติดกับประเทศเวียดนามจึงเป็นพื้นที่สัมประทานให้กลุ่มทุนชาวเวียดนามมากที่สุด ส่วนกลุ่มทุนชาวจีนก็มีปะปนกันไป และที่สำคัญ ประเทศกัมพูชา มีรหัสสินค้ายางของตัวเองคือ CSR (Cambodia Standart Rubber)นั่นแสดงว่าประเทศนี้มีมาตรฐานสถาบันวิจัยยางเองแล้ว ตลาดหลักที่ส่งออก ได้แก่ จีน เวียดนาม และมาเลเซีย
ยางแท่ง CSR ดูจากสึ CSR L เทียบเท่า STR5L |
ล็อตที่ไม่ได้ขอ Certificate ห่อแล้วคงยากเอาออกมาแล็บ |
ตัวอย่างที่ได้ปีนั่นผิวข้างนอกสกปรกหน่อย แต่ได้เบอร์ CSR L = SVR 3L = STR 5L เทียบจากผลแล็บ |
CSR10 คุณสมบัติวิจัยเทียบเท่า STR10 |
CSR20 คุณสมบัติวิจัยเทียบเท่า STR20 |
L = Laos หรือ ลาว เป็นประเทศที่ผมทราบข้อมูลมากที่สุด ผมได้เข้าไปที่ลาวตั้งแต่ปี 2007 เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก หรือลาวตอนใต้ สมัยนั้นยังไม่มีการเปิดกรีดยาง จะมีแต่สวนยางเก่าแก่ 126 ปี เป็นพันธุ์พื้นบ้าน หรือต้นยางพาราอเมซอน ต้นฉบับของพันธุ์ยางทุกวันนี้ ปลูกสมัยเจ้าบุญอุ้ม เจ้ามหาชีวิตของคนลาวตอนใต้ในขณะนั้น และมีสวนยางดาฟี่ หรือสวนยางทหารเปิดกรีดแล้วเป็นปีที่ 3 เท่านั้น เป็นพันธุ์ไทเกอร์ บ้างก็ว่า RRIM600 (ส่วนตัวไม่ถนัดเรื่องพันธุ์ยาง) พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่จะเป็นของ รัฐวิสาหกิจจากประเทศเวียดนาม ยอดจำนวนเงินที่ลงทุนไปมากถึง 80 ล้านดอลล่าร์ และยังมีบริษัทเอกชนของเวียดนามอีก หลายบริษัท มาลงทุนปลูกพอๆกับของรัฐวิสาหกิจเวียดนามเลยทีเดียว โดยเฉพาะในแขวงจำปาสักที่เดียวมีถึง 60,000 เฮกต้า X 6.25 ไร่ = 375,000 ไร่ (ข้อมูลจากเจ้ากรมที่ดินจำปาสัก) เป็นการใช้พื้นที่ผืนใหญ่ปลูกแบบสุดลูกหูลูกตา ส่วนสวนยางอื่นๆก็เป็นของพ่อค้าไม้ เจ้าของโรงเลื่อย เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าแขวงจำปาสัก รองเจ้าแขวง เจ้ากรมที่ดิน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ (ขออาลัยท่านนี้เพิ่งเสียชีวิตเครื่องบินตกที่ลาวเร็วๆนี้) หัวหน้าการศุลกากรแขวง และอีกเยอะไล่ไม่หมด เอกสารข้อมูลผู้ถือครองที่ดินเพาะปลูกสวนยางอยู่ในมือผม และสิ่งที่สำคัญคือ เจ้าของสวนยางที่นี้เป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งแต่ 500 - 10,000 ไร่ กันทุกคน ส่วนสวนยางชาวบ้านทั่วๆไปก็จะมีตั้งแต่ 30-500 ไร่ (ต่ำกว่า 100ไร่หายาก) ไปทางตะวันออกและทางใต้เป็น แขวงสาละวัน แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ สองแขวงหลังนี้ มีบริษัทมหาชนของไทยรายหนึ่งร่วมกับบริษัทฮองอันยาลายของเวียดนาม เพราะปลูกทั้งสิ้น 100,000 เฮคต้า และยังมีบริษัทรายใหญ่ในไทยสัมประทานที่แขวงอื่นๆใน สปป.ลาว ด้วยเช่นกัน (แหล่งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ภายใน สปป.ลาว)
ขยับขึ้นมาเหนือหน่อย แขวงสะหวันนะเขตเป็นพื้นที่แห้งแล้งอนาคตจะเป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษเสียมากกว่าแต่ก็มีการปลูกยางในพื้นที่แขวงดังกล่าวพอสมควร ส่วนใหญ่จะปลูกอ้อยกับมันสัมปะหลังเสียมากกว่า เลื่อนขึ้นมาคือ แขวงคำม่วนเป็นพื้นที่เพาะปลูกยางไม่แพ้ แขวงจำปาสักเช่นกัน มีโรงงานผลิตยางเครพของคนไทยที่รู้จักอยู่ที่นั้น และโรงงานผลิตยางแท่งของเวียดนามที่นั่นเช่นกัน กลุ่มทุนจะมาจากเวียดนามซะส่วนใหญ่เพราะเป็นช่วงใกล้ประเทศเวียดนามมากที่สุดโดยไปทะลุท่าเรือดานังของเวียดนามซึ่งส่วนใหญ่เรียกว่าเป็นท่าเรือของคนลาว เพราะส่วนใหญ่สินค้าลาวจะส่งออกจะไปเส้นทางนั้นมากกว่า ไล่ขึ้นมาเป็นแขวงบ่ลิคำไซย ไปถึงแขวงเชียงขวาง ซึ่งพื้นที่ปลูกก็ไม่น้อยหน้ากันและมีกลุ่มทุนชาวจีนมาปลูกคือบริษัทยูนนานรับเบอร์ ไล่ขึ้นไปที่นครหลวงเวียงจันทน์ เลยขึ้นไปเป็น แขวงเวียงจันทน์มีโรงงานยางเครพที่เมืองโพนโฮง (ผมเป็นการตลาดและช่วยก่อตั้งขึ้นมา)และการเพาะปลูกโดยกลุ่มนายทุนชาวเกาหลีใต้ จีน เป็นส่วนใหญ่ ไล่ไปทางแขวงไซยะบุลี แขวงหลวงพระบาง แขวงอุดมไซย แขวงหลวงน้ำทา แขวงพงสาลี แขวงบ่อแก้ว จะเป็นกลุ่มนายทุนจากจีนซะเป็นส่วนใหญ่ปลูกยางและสร้างโรงงานยางแท่งเยอะที่สุด ชาวบ้านปลูกยางมีน้อยมากแบบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าถึงจะรู้ว่ามีชาวบ้านปลูกเอง เพราะสวนยางนายทุนจีนปลูกกันชนิด ทุกซอกทุกมุม บนเขาทุกลูก เทียบได้เท่ากับภาคตะวันออกไทยทั้งภาค พันธุ์ยางที่ใช้ปลูกเป็นพันธุ์สำหรับเมืองหนาวจากประเทศจีน เรียกได้ว่าสถิติปลูกยางพาราทั้งประเทศลาวมีประมาณไม่ต่ำกว่า 8 ล้านไร่
ต้นยางพาราอเมซอน กรีดได้วันละ 10 ถ้วย/ต้น |
อายุต้นยาง 126 ปีกรีดได้เต็ม 365 วันไม่มีปิดหน้ายาง |
บริษัทเวียดนามเล็กๆ ในสปป.ลาว ทำยาง RSS เดือนละ 500-800 ตัน จากยางที่ปลูกของบริษัท 100% |
ยางแผ่นรมควันที่นู่นตีเหมาเกรด RSS3 ไม่อัดลูกขุน |
วิธีบรรจุหีบห่อใส่ถุงพลาสติกส่งออกไปตามนี้ |
ยาง RSS ผมเองทำส่งออกไปมาเลย์ทำ ตู้ Transit (ผ่านเวียดนาม) ไปขึ้นเรือที่ดานัง |
***หมายเหตุ ไม่มีรูปภาพประกอบส่วนตัวไม่กล้าเข้าไปลึก ข้อแม้ที่นู่นบังคับให้จ้างล่ามและรถตู้ทางฝั่งพม่าเท่านั้นถึงเดินทางไปได้หลายจังหวัดของพม่า แต่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป (เป้าหมายหายางป้อนเข้าโรงงานรัฐบาลจีน) จึงทราบข้อมูลในวงจำกัด***
V = Vietnam หรือ เวียดนาม ในกลุ่มประเทศ CLMV ถือว่าเป็นประเทศที่ล้ำหน้าที่สุดในการผลิตยางพารา เริ่มต้นโดยทางรัฐบาลเวียดนาม ให้การสนับสนุนกับภาคเอกชนเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นหลายที่ในประเทศ แม้กระทั่งให้การสนับสนุนลงทุนไปยังต่างประเทศในการสัมประทานที่ดิน เรียกได้ว่า เวียดนามทำตัวเองเหมือนไทยผสมมาเลย์ กล่าวคือ เป็นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่ปลายน้ำยังอาศัยการส่งออกไปยังประเทศจีนเหมือนไทยอยู่บ้าง แต่แปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ภายในประเทศเวียดนามมีปริมาณสูงกว่าในไทย และที่สำคัญประเทศเวียดนามมีสถาบันวิจัยยางเอง หรือเรียกว่า SVR (Standard Vietnamese Rubber)และมีมาตรฐานยางหลากหลายเบอร์ นำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ เช่น SVR L,SVR3L,SVR5L,SVR5,SVR10,SVR20 เรื่องพื้นที่เพาะปลูกยาง รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายให้การสนับสนุนปลูกยางภายในประเทศในปี 2015 ให้ครบ 700,000 เฮคต้า หรือ 4,375,000 ล้านไร่ ไม่รวมกับสนับสนุนให้เอกชนไปสัมประทานปลูกในประเทศกัมพูชาและ สปป.ลาว รวมแล้วพื้นที่ปลูกยางที่เป็นสวนยางของเวียดนามทั้งสิ้นโดยประมาณไม่ตำกว่า 6 ล้านไร่ และยังมีสวนยางจากกลุ่มทุนจากประเทศจีน มาสัมประทานที่ปลูกยางในประเทศเวียดนามอีกที่ยังไม่นับ ข้อดีอีกอย่างให้เวียดนาม คือ แรงงานกรีดยาง มีปริมาณที่สูงมากสามารถหาแรงงานได้ง่ายกว่าหลายๆประเทศอีกด้วย
รางรับน้ำยางสดที่ผ่านการกรองสะอาดแล้ว มาตรฐานความสะอาดไม่ธรรมดาครับ |
เมื่อมีมาตรฐานในขบวนการคัดสรรวัตถุดิบที่ดี ก็สามารถผลิตยางแท่งได้มีคุณภาพสม่ำเสมอทั้งล็อต |
การอัดยางแท่งให้ได้น้ำหนักตามมาตรฐาน 33kg.35kg. |
เมื่อผลิตยางแท่งตกเกรดไม่ผ่านสามารถเข้าเครื่อง Dry พร้อมผสมสารเคมีเพื่อจะทำยาง Compound ได้ต่อทันที |
Cooling Tunnel ระบายความร้อนหลังออกจาก Dry เป็นระบบยางคอมปาวด์ที่ขนาดเล็กไปหน่อยไม่เน้น Compound ส่งออกเท่าไหร่ |
เตาอบยางแท่ง หัวใจสำคัญของการทำยางแท่งคือตัวนี้ ถ้าเตาอบไม่ได้มาตรฐานเตรียมปิดโรงงานได้เลย เพราะยางอบสุกไม่หมดเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของระบบการทำโรงงานยางแท่งในไทยด้วย |
หลังจากลงบล็อกเหล็กใช้แท่นปูนทับ 12 ชม.แล้วก็บรรจุเข้าพาเหรดเตรียมขึ้นตู้ลงเรือต่อไปตาม Packing ลูกค้ากำหนด |
จากข้อมูลของกลุ่มประเทศ CLMV ที่กล่าวมาบางท่านอาจจะเดาออกแล้วว่าจะมีผลกระทบต่อภายในไทยยังงัย แต่ก็จะขออนุญาตอธิบายเพื่อให้ครบองค์ประกอบของบทความนี้แล้วกันครับ
ปัจจัยหลักที่เราไม่ควรมองข้าม มีหลายประเด็น ดังนี้
1.พันธุ์ยางที่ปลูกในกลุ่มประเทศ CLMV ส่วนใหญ่จะเป็นแนวพันธุ์รากฐานมาจาก RRIM600 เป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ไปบ้างเป็น เวียดนาม600 และเมื่อถามว่าปัจจุบันคุณสมบัติยางไทยมีคุณภาพเด่นและสูงกว่าประเทศอื่นๆมั๊ย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่เมื่อการนำรากฐานพันธุ์ยางมาจากไทย มาจากมาเลเซีย (ต้นกำเนิด RRIM600) จุดเด่นของไทยเราที่มีก็จะไม่ใช่จุดแข็งอีกต่อไป เมื่อคุณสมบัติออกมาเหมือนกันทุกประการ ด้วยหลักฐานการพิสูจน์ในเรื่องนี้ กล่าวคือ ผมได้นำยางในพื้นที่ของ สปป.ลาว ทั้งแขวงจำปาสัก แขวงคำม่วน แขวงบ่ลิคำไซย แขวงเวียงจันทน์ ไปขายและเข้าแล็บวิจัยมาตรฐาน TSR ที่ประเทศจีนมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งคุณสมบัติที่ออกมาเหมือนยางพาราในไทยทุกประการ สามารถทำรหัสที่ออกเป็น CV (Constant Viscosity Rubber) เป็นยางแท่งความหนืดคงที่ มีการปรับความหนืดสม่ำเสมอที่ 37-39 หน่วยมูนนี่ โดยมีการเติมสารเคมีเข้าไปซึ่งมีปฎิกิริยาที่ดีต่อยางไทย เพื่อป้องกันการเกิดพันธะไฮโดรเจนระหว่างโครงสร้างโมเลกุลยางที่เป็นสาเหตุให้เกิดความหนืดเพิ่ม มีผลไปถึง PO และ PRI ด้วย ฉนั้นการเติมสารเคมีเพื่อได้ค่า CV ขึ้นมาจึงจำเป็นต้องอาศัยคุณสมบัติยางที่ไทยเป็นหลักในการผลิตขึ้น แต่ไม่ใช่มีแค่ไทยที่สามารถมีคุณสมบัตินี้แล้ว ที่ลาว และเวียดนาม ก็สามารถมีคุณสมบัติดังกล่าวเทียบเท่ากับไทยได้ในอนาคตอันใกล้นี้
แปลงเพาะพันธุ์เนอสเซอรี่ แนวพันธุ์ RRIM600 RRIT251 RRIM3001 PB250 ในสปป.ลาว
2.วิวัฒนาการ แปรรูป "ยางวัตถุดิบ" ให้เป็น "ยางแท่ง" ก่อนขึ้นเป็น "ผลิตภัณฑ์" หลายฝ่ายยังคงเข้าใจแบบผิดๆว่า สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม (ไม่นับเมียร์ม่า) อุปกรณ์เครื่องมือผลิตยางยังล้าสมัยและล้าหลังกว่าไทย ซึ่งประเด็นตรงนี้ไม่ใช่อย่างที่หลายๆฝ่ายเข้าใจกัน จะกล่าวว่า "ที่ไหนมีทุนที่นั้นก็มีความทันสมัย" เริ่มแรกเดิมที กลุ่มประเทศ CLMV จะโฟกัสในการผลิตยางแบบที่ไทยทำกัน คือ ยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน แน่นอนว่าถ้าเป็นยางชนิดนี้ กลุ่ม CLMV ย่อมศึกษาและนำเครื่องจักรมาจากไทยเพื่อทำให้ได้ตามมาตรฐานที่สถาบันวิจัยยางไทยกำหนดทุกประการ (ส่วนตัวก็เคยนำเข้าแนะนำให้คนในลาว) แต่ด้วยพื้นฐานการปลูกยางพาราการลงทุนทำโรงงานแปรรูปของกลุ่มประเทศ CLMV นี้จะเป็นของภาครัฐ บริษัท เอกชน ซะเป็นส่วนใหญ่ (ถ้าจะมียาง USS RSS จะเป็นชาวสวนยางทั่วๆไปทำกันเสียมากกว่า ทำยางได้สวยและราคาถูกกว่าไทย 10 บาท/kg.) กลุ่มทุนที่มาลงทุนปลูกยางพาราใหญ่ขนาดนี้ ย่อมมีทุนในการแปรรูปยางพารามาขึ้นเช่นกัน เมื่อถามว่าเครื่องจักรผลิตยางพาราระดับผลิตยางแท่ง ต้องอาศัยตัวอย่างจากที่ไหน ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า มาเลเซียและจีน เพราะเป็นผู้นำวิวัฒนาการการผลิตยางแท่งมาตรฐานระดับโลก แต่จีนจะตามหลังมาเลเซียนิดหน่อย เนื่องจากเริ่มแรกเดิมทีจีนนำเข้ายางแท่งจากประเทศมาเลเซียซะเป็นส่วนใหญ่ หลังจากที่จีนมีพันธุ์ปลูกยางในพื้นที่อากาศหนาวได้แล้วก็ได้มีการนำวิวัฒนาการตามมาเลเซียในการผลิตยางแท่งเสียเอง เพราะลำพังแค่การนำเข้าไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศจีน จึงต้องอาศัยผลิตยางแท่งให้กับตัวเองเช่นกัน ฉนั้นเครื่องจักรผลิตยางพาราก็จะเป็น มาเลเซีย และตามด้วย จีน นั้นเอง กลุ่มประเทศ CLMV ที่เป็นภาครัฐ เอกชน ได้สั่งซื้อเครื่องจักรมาจากประเทศมาเลเซียบ้าง จากประเทศจีนบ้าง ก็เปรียบเสมือนโรงงานยางแท่งภายในไทยก็นำมาจากมาเลเซียและจีนเช่นเดียวกัน แถมเวียดนามและกัมพูชาก็มีสถาบันวิจัยยางของเค้าด้วยและมีการพัฒนาสถาบันตลอดเวลา (ประเทศลาวกำลังศึกษาการทำวิจัยยางพาราจากไทย เวียดนาม และจีน เพื่อมีมาตรฐานยางรหัส SLR ขึ้นมาเองแล้ว)
Dry Prebreaker 350HP อยู่ในลาวครับ ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงงานยางแท่งรายใหญ่บ้านเรา |
Cooling Tunnel ชื่อบอกหน้าที่อยู่แล้ว |
Hydraulic baling press 100MT |
Metal Detector เครื่องตรวจสอบโลหะในยางแท่ง |
เครื่องจักรทันสมัยที่สุดในช่วงปี 2012 |
ระบบเครื่องจักรผลิตยางพารามาตรฐาน |
ระบบบ่อบำบัดผ่านสิ่งแวดล้อมระดับอุตสาหกรรม รง.4 ผ่านสบายๆ |
ระบบบำบัดน้ำดี น้ำเสีย |
สถานีระบบบำบัดน้ำเสีย |
4.มาตรฐานการผลิตยางแท่ง เนื่องจากกลุ่มทุน นายทุนหรือรัฐวิสาหกิจลงทุนปลูกยางและสร้างโรงงานผลิตยางแท่งเอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยรับซื้อยางพาราจากชาวบ้าน ทำให้ขั้นตอนการเก็บรักษา การขนถ่ายน้ำยางสด การเก็บตัวอย่าง การกรองน้ำยางสด และอื่นๆ ทำให้การผลิตยางแท่งย่อมมีเสถียรภาพสูงกว่าการรับซื้อวัตถุดิบจากภายนอกเข้ามาผลิตนั้นเอง แนวพันธุ์ยางที่เพาะปลูกยังเป็นพันธุ์เดียวกันทั้ง 100% เช่นกัน
5.Supply เมื่อเจอคำๆนี้ หลายๆท่านคงจะรู้สึกถึงปริมาณสวนยางภายในประเทศไทย ที่แห่กันปลูกและวัตถุดิบที่ล้นประเทศ ยางสต๊อกของรัฐ หรือโค่นยางทิ้งปลูกปาล์มทดแทน นั่นคือวิกฤตใบเบิกทางเท่านั้น ทำไมบทความนี้ถึงต้องอธิบายกลุ่มประเทศ CLMV ให้ฟังคร่าวๆ เพราะวิกฤตรอบต่อไปนี้ เกิดจากการแย่งส่วนแบ่งทางการส่งออกยางของไทยเราแน่นอน อย่างที่ทราบกันนี้ในปัจจุบันนี้สถิติยางใช้กันทั่วโลกมีถึง 70% มาจาก ไทย มาเลย์ และอินโด โดยลูกค้าส่งออกหลักของประเทศไทยคือ จีน ลูกค้าหลักส่งออกยางของอินโดนีเซีย คือ อเมริกา ไม่แย่งส่วนแบ่งทางการตลาดการส่งออกกัน ส่วนประเทศมาเลเซียถึงขั้นผลิตยางเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแล้วส่งออกขายทั่วโลกและขายได้ง่ายกว่าเพราะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย ส่วนยางแท่งที่เอาไปแล้วใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ต้องนำเข้าโรงงานแปรรูปอีกทีเสียก่อน เมื่อกลุ่มประเทศ CLMV เปิดกรีดเต็มพื้นที่ จะส่งผลปริมาณการส่งออกของไทยมากขึ้นและรุนแรงขึ้นทุกๆปี
เมื่อในอนาคตอันใกล้นี้ กลุ่มประเทศ CLMV นี้จะเกิดขึ้นมาเต็มรูปแบบและแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดส่งออกจากไทยเราไป เพราะกลุ่มประเทศดังกล่าวตลาดหลักในการส่งออก คือ ประเทศจีนเหมือนไทยเช่นกัน รวมไปถึงต้นทุนยางพาราต่ำกว่าที่ไทยด้วย กลุ่มทุนที่สัมประทานที่ปลูกยางใน CLMV เกินกว่าครึ่งเป็นนายทุนจากประเทศจีนทั้งสิ้นเปรียบเสมือนประเทศจีนมีต้นน้ำเป็นของตัวเองเกือบเต็มรูปแบบแล้ว โควต้าการนำยางเข้าประเทศจีนอัตราส่วนก็จะน้อยลงตามไปด้วย และที่สำคัญมากๆคือ รัฐบาลจีนสนับสนุนให้กลุ่มทุนชาวจีนไปลงสัมประทานปลูกยางที่ CLMV สามารถดำเนินการขอจากกรมการค้ายูนนานนำยางที่ตนเองปลูกในต่างประเทศนำเข้าจีนในรูปแบบโควต้าภาษี 0% โดยโควต้าดังกล่าวเปิด 2 ครั้งต่อปี ครั้งละประมาณ 3-4 เดือน แน่นอนแล้วว่าประเทศจีนแก้ไขเรื่องการขาดแคลนการใช้ยางภายในประเทศได้ในระดับที่ดีในอนาคต จะคงเหลือแต่การนำเข้ายางพาราเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในการส่งออกไปประเทศที่ 3 เท่านั้น
สถิติจากแหล่งข้อมูลเว็บไซด์ www.thainr.com เรื่องการส่งออกยางในปี 2556
ข้อมูลจาก www.thainr.com ที่มา : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร |
สถิติปี 2556 ยางไทยผลิตได้ทั้งสิ้น 4.37 ล้านตัน ส่งออก 3.66 ล้านตัน แต่นำมาใช้ภายในประเทศเพียง 5.2 แสนตัน เฉพาะพื้นที่ต้นยางที่กรีดได้ทั้งสิ้น (ปี 2556) 16,487,273 ไร่ นั่นหมายถึง สวนยางจำนวนนี้ผลิตยางทั้งสิ้นได้ 4.37 ล้านตัน
16,487,273 ไร่ = 4.37 ล้านตัน (ยาง100%)
ถ้าเกิดยางกลุ่มทุนชาวจีนที่ลงปลูกในกลุ่มประเทศ CLMV รวมกันโดยประมาณแค่ ครึ่งนึงของยางไทยที่กรีดได้ คือ 16,487,273 / 2 = 8,243,636 ไร่ ผลิตยางได้โดยประมาณ 2 ล้านตัน (เลขกลมๆตามปริมาณพันธุ์ยางของไทยเป็นหลักไปก่อน)
แหล่งข้อมูลจาก www.thainr.com แต่ข้อมูลตัวเลขของปี 2556 ผิดเพี้ยนนิดหน่อยแต่มีสถิติส่งออก 3.66 ล้านตัน |
เมื่อยางไทยส่งออกไป 3.66 ล้านตัน (ตีเหมาส่งออกเป็นจีนทั้งหมดก่อนจริงๆมีประเทศอื่นด้วย) เมื่อประเทศจีน นำเข้ายางจากลุ่มทุนชาวจีนด้วยกันเองจำนวน 2 ล้านตัน เหลือให้ไทยเพียง 1.66 ล้านตัน คำถามคือว่า ปริมาณยางส่งออกที่เหลือคือที่ไทยผลิตคงค้าง 2 ล้านตันต้องค้างสต๊อกภายในประเทศหรือป่าว ถึงจะไม่เป็นยอดตามนี้ เพราะทุกๆปีความต้องการใช้ยางจากจีนสูงขึ้นทุกปี แต่ก็ยังคงมียางค้างสต๊อกเป็นหลักล้านตันนั่นเอง ขนาดยางสต๊อกไทยล่าสุด 2.1 แสนตันยังมีปัญหาขนาดนี้ ฉนั้นในอนาคตนี้อาจจะเป็น Over Supply ของจริง เริ่มมีให้เห็นแล้วตั้งแต่ปี 2013 และในปีนี้ 2014 รุนแรงกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด
สถิติส่งออกยางแต่ละชนิดเรียงตามปริมาณ STR20 RSS Compound Latex Others ตามลำดับ |
ประเภทยางอื่นๆที่ส่งออกในปี 2556 สังเกตุการส่งออกของประเภทยาง Crepe Rubber มีเพียง 5,522 ตัน/ปีเท่านั้น |
มาถึงบทที่ทำไมส่วนตัวผมเองจึงเพียรพยายามอธิบายคำว่าคุณภาพยางวัตถุดิบต้องดีตั้งแต่การแปรรูปขั้นต้น ถ้าไม่ทำแล้วเราจะเอาอะไรไปแข่งขันตลาดโลกได้ จากข้อมูลสถิติด้านบน การทำยางส่งออกจะเน้นหนักไปที่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ยางคอมปาว์ด น้ำยางข้น เป็นหลัก แต่ทำไมไม่คิดทำวัตถุดิบส่งออก ไปให้ทางโรงงานยางแท่งที่จีน ผลิตเสียเอง ตัดและลดขั้นตอนในการทำยางแท่ง STR20 ไปด้วยในตัว ทั้งๆการส่งออกยาง ADS Crepe Skim USS มีอัตราส่วนในการส่งออกน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับยางชนิดอื่นๆ ตัดชนิดยางความยากของการผลิตออกไป คือ ADS กับ Skim จะเหลือยาง Crepe และ USS ที่ทำได้ง่ายและถนัดที่สุดของชาวสวนยาง
ยางวัตถุดิบทั้งสองชนิด คือ Crepe และ USS ยังคงเป็นวัตถุดิบที่ยังมีความชื้นอยู่ในเนื้อยาง จึงเป็นวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น จำเป็นต้องนำไปผลิตต่อเป็นยางแท่ง และ ยางแผ่นรมควัน ต่ออีกที แต่ในความเป็นยางวัตถุดิบนี้เอง ทางจีนก็มีความต้องการวัตถุดิบทั้งสองชนิดนี้มากๆ เพราะสามารถลดต้นทุนในการผลิตยางแท่งได้ ถ้าซื้อยางแท่งจากไทยไปต้นทุนค่อนข้างสูง และอีกประเด็นที่สำคัญคือการนำวัตถุดิบไปผลิตยางที่ได้คุณภาพสูงกว่า ยางแท่ง STR20 ฉนั้นการที่จะทำยางวัตถุดิบเพื่อการส่งออกจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีคุณภาพตามไปด้วย
ยางวัตถุดิบทั้งสองชนิด คือ Crepe และ USS ยังคงเป็นวัตถุดิบที่ยังมีความชื้นอยู่ในเนื้อยาง จึงเป็นวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น จำเป็นต้องนำไปผลิตต่อเป็นยางแท่ง และ ยางแผ่นรมควัน ต่ออีกที แต่ในความเป็นยางวัตถุดิบนี้เอง ทางจีนก็มีความต้องการวัตถุดิบทั้งสองชนิดนี้มากๆ เพราะสามารถลดต้นทุนในการผลิตยางแท่งได้ ถ้าซื้อยางแท่งจากไทยไปต้นทุนค่อนข้างสูง และอีกประเด็นที่สำคัญคือการนำวัตถุดิบไปผลิตยางที่ได้คุณภาพสูงกว่า ยางแท่ง STR20 ฉนั้นการที่จะทำยางวัตถุดิบเพื่อการส่งออกจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีคุณภาพตามไปด้วย
เมื่อมองแนวทางการตลาดแบบเดิมๆ คือ ยังคงพึ่งพาการขายยางไปยังโรงงานยางแท่ง STR20 เมื่อเกิดปัญหา Over Supply ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกๆปีนี้ จะมีผลกระทบเป็นห่วงโซ่กันเป็นทอดๆ ตามนี้
1.เริ่มจากผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ในไทย (ไม่ขอเอ่ยนาม) หลายๆคนนิยมป้อนวัตถุดิบให้กับโรงงานดังกล่าวโดยส่วนใหญ่ไปผลิตเป็นยางแท่ง STR20 เป็นหลัก ซึ่งถ้าตลาดหลักที่ส่งออกไปยังประเทศจีนมีการลดจำนวนในการนำเข้ายางลดลงไป ผลกระทบก็จะมาตกที่ชาวสวนยาง และโรงงานขนาดกลาง ไม่มีที่ส่ง ตลาดรับซื้อเริ่มแคบลงเรื่อยๆ ถึงผู้ส่งออกรายใหญ่สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์เองได้แล้วก็ตาม แต่สุดท้ายสิ่งที่ ผู้ส่งออกรายใหญ่ในไทยต้องการเพื่อลดปริมาณในการรับซื้อยางเข้าก็ต้องเลือกเฉพาะวัตถุดิบที่มีคุณภาพมากที่สุดเป็นตัวเลือกอันดับแรก ผลสุดท้ายใครบ้างไม่ชอบของดีของสะอาดและมีคุณภาพบ้าง
2.ผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยทั้งหลายได้เริ่มปลูกยางเองหรือทำต้นน้ำกันเองมากขึ้น ไม่ว่าการจะไปสัมประทานที่เพาะปลูกในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น เพราะผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยตระหนักถือปัญหาต้นน้ำมานานแล้ว จึงเป็นรูปแบบกลุ่มทุนเหมือนที่เวียดนามและจีนทำกัน ข้อดีคือสามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบตั้งแต่น้ำยางหยดแรกจากต้นยางจนไปถึงการขน ถ่าย เก็บ คัดสรร นำเข้าขบวนการผลิตเอง เพื่อมาตรฐานที่สูงขึ้นและสามารถผลิตคุณสมบัติยางได้หลากหลายเบอร์เฉกเช่นทางเวียดนาม มาเลยเซีย และจีน ทำกัน ส่วนการรับซื้อยางจากชาวบ้านทุกวันนี้นำไปทำยาง STR20 จะยังคงรับเรื่อยๆตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น แล้วประเด็นเดิมต้องเจอขั้นตอนการรับซื้อที่ยังไม่มีความชัดเจนที่ดีพอ การตี DRC ยังจำกัดกรอบในรูปแบบของความพึงพอใจของผู้ซื้อเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น จึงเริ่มเป็นกลไกการค้าขายที่ทำให้ยากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ มีผลกระทบไปยัง เทรดเดอร์ พ่อค้าคนกลาง ยี่ปั๊ว และชาวสวนยางโดยตรง การสร้างวัฒนธรรมการซื้อขายแบบนี้คงหนีไม่พ้นวัฎจักรเดิมๆดังกล่าวได้เลย
3.เมื่อไม่เข้าใจคุณภาพหรือตลาดใหม่ๆในการทำยางคุณภาพแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการพึ่งพาอาศัยโรงงานยางแท่งไม่จบไม่สิ้น และไม่มีอำนาจต่อรองใดๆขึ้นมา เมื่อไม่มีอำนาจต่อรองได้ก็ต้องทำตามข้อเสนอของผู้ซื้อ และผู้ที่ไปรับซื้อมาขายต่อ ก็ลงไปกดราคาทุกวิถีทางกับชาวสวนยางต่อกันเป็นทอดๆ
4.การล้มหายตายจากของโรงงานยางแท่ง STR20 ทั่วๆไป เมื่อเกิดปัญหา Over Supply โรงงานเล็ก-ขนาดกลาง ถ้าไม่แข็งพอก็จะอยู่ไม่รอด ขนาดโรงงานยางแท่งของผู้ส่งออกรายใหญ่ยังต้องลดปริมาณในการรับซื้อเข้ามาผลิต STR20 น้อยลงตามออเดอร์ แต่ถ้ามีการตลาดแผนการขายที่ดีพอก็ยังคงสามารถพัฒนาการผลิตยางให้ดีขึ้นและส่งออกเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ส่งออกรายใหญ่ได้เช่นกัน สำหรับโรงงานยางแท่ง STR20 ที่ไลน์ระบบไม่สมบูรณ์แบบหรือขาดๆเกินๆ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของสถาบันวิจัยยาง จะอยู่ยากขึ้น เพราะคุณสมบัติของยางแท่งจำเป็นต้องมีค่ามาตรฐานยืนยันทุกๆค่าให้ตรงตามเบอร์ยางที่ตีตราไว้และขนาดยางในการขนส่งก็สำคัญ Gross Weight,Net Weight เพราะเกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง และนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าด้วย
รูปทรงการขึ้นพาเหรดเมื่อโหลดขึ้นตู้จะไ่ม่สามารถเข้าตู้ตามปริมาณที่กำหนด |
ขนาดและน้ำหนักไม่ได้เป็นมาตรฐาน STR20 |
การวางบนพาเหรดถ้าไม่บล็อกเหล็กรูปทรงยางจะล้ม |
Hummer Mill
โครงสร้างเตาอบที่ไม่ได้มาตรฐาน |
เตาอบขนาดไม่สามารถอบยางได้สุกทั้งหมด |
สวนยางพาราของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในกลุ่มประเทศ CLMV
ตามที่เคยกล่าวไว้ ของบทความตอนต้นๆ เรื่องกลุ่มทุนชาวจีนสัมประทานที่ดินเพื่อการเพาะปลูกยางพารา เป็นข้อมูลจากประสบการณ์ที่เจอกับตนเอง และทราบเรื่องนี้มาตั้งแต่จีนเริ่มลงทุนปลูกยางตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมาและขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นทุกๆปีจนถึงปัจจุบัน จึงขออนุญาตนำบทความท่านนึงมาลงในบทความนี้ เพราะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจและสอดคล้องกับข้อมูลทางผมอยู่บ้าง (คล้ายกันแต่วิเคราะห์ต่างกันเล็กน้อยโดยรวมเป็นทิศทางเหมือนกัน) เขียนบทความไว้ได้ดีมาก
ผมขออนุญาตนำบทความคุณเกียรติศักดิ์มาอ้างอิงที่เคยเขียนไว้เมื่อปี 2556 นำมาเปรียบเทียบจากข้อมูลหน้างานที่ส่วนตัวได้ศึกษามาเพื่อหาจุดวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตว่า ทิศทางยางพาราในตลาดโลกจะเป็นไปในทิศทางไหน ได้มีประโยชน์เพื่อหาวิธีมาแก้ไขปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้น ฉนั้นจึงขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในบทความในบางจุดเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดมา ณ ที่นี้ด้วย ขอบคุณครับ
เครดิต : คุณเกียรติศักดิ์ คำสี
วันที่ : 30 ตุลาคม 2556
จีนเป็นผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลกและเป็นผู้นำเข้ายางพาราอันดับ 1 ของไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV คำถามคือ การขยายพื้นที่ดังกล่าว จะทำให้จีนมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกและไทยลดลงหรือไม่ จากการวิเคราะห์ของ EIC พบว่า ผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนปรับตัวลดลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่อาจทำให้บทบาทของไทย ในการเป็น supplier หลักในตลาดโลกลดความสำคัญลง พร้อมทั้งยังทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นเหมือนในอดีต
***ส่วนตัวเห็นด้วยเพราะมีเหตุผลสอดคล้องความน่าจะเป็นจากข้อมูลจริง***
จีนเป็นผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลก โดยเกือบ 80 % เป็นการบริโภคยางพาราที่นำเข้าจากตลาดโลก การขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการบริโภคยางพาราของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2012 จีนมีปริมาณการบริโภคยางพาราจำนวน 3.9 ล้านตัน หรือคิดเป็น 35% ของการบริโภคยางพาราทั่วโลก ในขณะที่จีนมีผลผลิตยางพาราเพียง 0.79 ล้านตันหรือราว 21% ของความต้องการบริโภคยางพาราในประเทศ ทำให้ในแต่ละปี จีนต้องนำเข้ายางพาราเป็นจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมามีการนำเข้ายางพารา 2.5 ล้านตัน หรือราว 32% ของการค้ายางพาราทั่วโลก
ความสามารถในการพึ่งพาผลผลิตในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้จีนมีนโยบายลงทุนขยายสวนยางพาราทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอุปทานให้อุตสาหกรรมของตน รัฐบาลจีนตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากขาดแคลนยางพาราในประเทศ จึงได้ส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2005-2012 มีการขยายพื้นที่ปลูกราวปีละ 260,000 ไร่ ปัจจุบันจีนจึงมีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 6.5 ล้านไร่ นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศผ่านยุทธศาสตร์ "Going Global" เพื่อสร้างหลักประกันต่อการจัดหายางพาราให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ โดยจีนได้เข้าไปลงทุนในกัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม (CLMV) ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกยางพาราในกลุ่มประเทศดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง โดยในช่วงปี 2006-2012 พื้นที่ปลูกยางพาราในกลุ่ม CLMV เพิ่มขึ้นราวปีละ 1 ล้านไร่ (รูปที่ 1) ทำให้ในปัจจุบันกลุ่มประเทศดังกล่าวมีพื้นที่ปลูกยางพารารวมกันมากถึง 12.2 ล้านไร่ ใกล้เคียงกับไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 14.7 ล้านไร่
***จากการทำยุทธศาสตร์ Going Global สอดคล้องกับข้อมูลเรื่องการนำเข้าในรูปแบบโควต้าภาษี 0% ให้เฉพาะผู้ประกอบการชาวจีนหรือกลุ่มทุนชาวจีน***
อย่างไรก็ตาม การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนในตลาดโลกและจากไทย ในช่วงที่ผ่านมา การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในประเทศของจีนทำได้ไม่มากนัก เพราะแม้ว่าจีนจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่พื้นที่ที่มีสภาพอากาศเหมาะสมกับการปลูกยางพารากลับมีค่อนข้างจำกัด ทำให้ผลผลิตยางพาราที่คาดว่าจะออกมาในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นราวปีละ 7% โดยจากข้อมูลของ International rubber study group (IRSG) พบว่าผลผลิตยางพาราของจีนในปี 2022 จะอยู่ที่ราว 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็น 21% ของความต้องการบริโภค ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรวมผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV กับจีน ก็จะพบว่า ผลผลิตที่ได้ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของจีนอีกเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจีนจะมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกราว 3 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งมากกว่าปี 2012 ที่มีความต้องการนำเข้าเพียง 2 ล้านตัน (รูปที่ 2) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยไปจีนในช่วง 10 ปีข้างหน้า
***ณ ปัจจุบัน มีการคลาดเคลื่อนจากที่กล่าวมาแล้ว จากที่ไม่มีผลกระทบ 10 ปีหน้า (นับจาก 2012) คงจะกลายเป็นไม่กี่ปีข้างหน้านี้แทน***
แต่บทบาทของไทยในฐานะ supplier หลักในตลาดยางพาราโลกจะลดความสำคัญลง ขณะที่บทบาทของกลุ่มประเทศ CLMV จะมีมากขึ้น แม้ว่าการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทย แต่การเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงปี 2006-2012 จะทำให้ผลผลิตยางพาราในกลุ่มประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2013-2019 โดย IRSG คาดว่า ผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV จะเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านตันในปี 2012 เป็น 2.8 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้กลุ่ม CLMV มีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตยางพาราในโลกเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2012 เป็น 17% ในปี 2022 ในขณะที่ไทยจะมีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตในโลกลดลง จาก 31% ในปี 2012 เป็น 24% ในปี 2022 (รูปที่ 3)
***การเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงปี 2006-2012 ยังไม่ส่งผลต่อการส่งออกยางไทย แต่จะส่งผลตั้งแต่ปี 2013-2019 ซึ่งเป็นช่วงผลกระทบวิกฤต Over Supply แล้ว แค่ปี 2014 ตอนนี้ก็เริ่มมองเห็นได้ชัดมากๆ จากการคาดการณ์เร็วๆนี้ ปลายปี 2015-2016 ก็มีผลกระทบเรื่องปริมาณที่ทะลุ 2.8 ล้านตันก่อนจะถึงปี 2022 แน่นอน เปอร์เซ็นต์ที่คาดการณ์ไว้อาจมีการเปลี่ยนแปลงก่อนถึงปี 2022 เช่นกัน จากสถานการณ์ยางในปัจจุบันก็พอคาดการณ์ได้ในระดับหนึ่ง***
ราคายางพาราในตลาดโลกจะไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากเหมือนในอดีต อีกทั้งยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบมีอิทธิพลต่อราคายางพาราเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ในช่วง 1 ทศวรรษหน้า โลกจะต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2013-2022 โลกจะมีผลผลิตส่วนเกินเฉลี่ยปีละ 162,000 ตัน แตกต่างจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่โลกประสบปัญหาการขาดแคลนยางพารา ซึ่งแม้ส่วนเกินดังกล่าวจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็จะเป็นตัวสร้างแรงกดดันให้ราคายางพาราไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงเหมือนในอดีต (รูปที่ 4) นอกจากนั้น ในระยะต่อไป ปัจจัยที่กระทบต่อความต้องการบริโภคยางพาราโลก เช่น ภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ จะมีอิทธิพลต่อราคายางพาราโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาหรือราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ก็จะส่งผลให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่วนเกินผลผลิตยางพาราโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง
***ราคายางพาราไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากเหมือนแต่ก่อนจริงๆเพราะจากผลผลิตส่วนเกินที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี ช่วง 2013-2019 อาจจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อผลผลิตส่วนเกินมากเพราะไม่สามารถส่งออกได้และจากการโดนแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปของกลุ่มประเทศ CLMV ก็จะทำให้ผลผลิตเกิด Over Supply เกิดขึ้นภายในประเทศ ส่งผลทำให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ก็ต้องลดปริมาณในการรับซื้อวัตถุดิบเข้ามา ผลผลิตจึงลดลงตามไปด้วย สุดท้ายผลกระทบตกอยู่ที่ใครบ้างคงจะทราบกันดีครับ***
รูปที่ 1: จีนและกลุ่มประเทศ CLMV ขยายพื้นที่ปลูกยางพาราค่อนข้างมากในช่วงปี 2005-2012
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IRSG รูปที่ 2 : จีนยังคงต้องพึ่งพิงการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกและไทย แม้จะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในช่วงที่ผ่านมา |
รูปที่ 3 : บทบาทการเป็น supplier ยางพาราที่สำคัญของไทยในตลาดโลกปรับตัวลดลง
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IRSG
รูปที่ 4 : โลกจะต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะกดดันให้ราคายางพาราไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นเหมือนในอดีต
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IRSG และสถาบันวิจัยยาง
- เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องปรับตัว เพื่อที่จะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่กรีดยางพาราในประเทศ CLMV แรงงานกรีดยางในภาคใต้จำนวนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศ CLMV โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า พื้นที่กรีดยางในประเทศดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นราว 2.6 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ความต้องการแรงงานเพื่อกรีดยางในกลุ่มประเทศดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า แรงงานต่างด้าวที่มีทักษะในการกรีดยาง อาจจะกลับไปในประเทศของตน ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของชาวสวนยางปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาแรงงานไว้ เกษตรกรอาจจะต้องปรับสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ให้แรงงานกรีดยางเพิ่มขึ้น
- ไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและจีนตกต่ำ การที่ผลผลิตในกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มขึ้น ทำให้จีนมีทางเลือกในการนำเข้ายางพาราเพิ่มขึ้น หากความต้องการบริโภคยางพาราในจีนปรับตัวลดลง จีนก็มีแนวโน้มที่จะหันไปนำเข้ายางพาราจากประเทศในกลุ่ม CLMV และลดการนำเข้าจากไทย เพราะราคายางพาราไทยแพงกว่าราคาในกลุ่มประเทศดังกล่าว ดังนั้น ในระยะต่อไป ไทยจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันด้านราคา ปัจจุบันผลผลิตยางพาราของไทยอยู่ที่ 262 กิโลกรัมต่อไร่ ต่ำกว่าเวียดนามที่มีผลผลิตอยู่ที่ 275 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งไทยสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ หากมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อต้นเพิ่มขึ้น
สรุปบทความข้างบนเป็นข้อมูลที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงการวิเคราะห์จากระยะเวลา 10 ปี กลายเป็นระยะเวลา 2-5 ปีนี้แทน เพราะสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งตลาดหุ้นยางเซี่ยงไฮ้ สต๊อกยางจีน นโยบายรัฐบาล และอื่นๆ เป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดวิกฤตรอบใหม่เร็วขึ้น เราจะอยู่อย่างไรในวงการยางพารา หลายฝ่ายก็มีแนวทางดิ้นรนฝ่าฟันด้วยตัวเอง เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น สุดท้ายนี้ขออวยพร ให้ท่านทั้งหลายมีความเจริญก้าวหน้า และประสบความสำเร็จโดยเร็วพลัน ขอขอบคุณที่เสียสละเวลาอ่านจนจบครับ
หมายเหตุ บทความนี้ทำขึ้นจากการวิเคราะห์ตามแหล่งข้อมูลจริงที่ได้ทำงานผ่านในกลุ่มประเทศ CLMV มาและทำตลาดส่งออกไปที่ประเทศจีน เป็นข้อมูลจากประสบการณ์ที่เก็บเล็กเก็บน้อย ตั้งแต่ปี 2007-ปัจจุบัน เพราะจากสถานการณ์ยางพาราทุกวันนี้มีผลทำให้เกิดบทความนี้ขึ้นมา
ผู้แชร์ประสบการณ์
บริษัท เอ็น โอเค พลัส จำกัด
โดย นายธนากร พลแดง
Tel : 0803883029
Line ID : nokrubberland
e-mail : marketing.nokplus@gmail.com
Facebook : www.facebook.com/noel.kaham
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น