บทนำ
จากปัญหายางพาราที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน เป็นผลทำให้ธุรกิจยางพาราไทยถึงจุดที่แคบลงทุกๆปี ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ตาม Supply ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่ความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกน้อยลง และราคาตลาดยางโลกก็ลดลงตามไปด้วย จากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจโลก ราคาทอง ราคาน้ำมัน สงคราม ปัญหาเหล่านี้เป็นผลทำให้การผลิตยางวัตถุดิบเพื่อการส่งออก มีราคาที่ตกต่ำ ส่งผลให้เกิดการกดราคารับซื้อยางจากชาวสวน พ่อค้าคนกลาง นายทุน โรงงานผลิตยางแท่งขนาดใหญ่ โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน เนื่องจากราคาการส่งออกมีราคาที่ต่ำมาโดยตลอด
บทความที่แล้ว "ตื่นเถิดประเทศไทย กับวิกฤตการณ์ยางพาราระลอกใหม่!!!" ได้มีการลงทุนปลูกยางเองและใกล้กรีดยางเต็มในเขตพื้นที่ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียร์ม่า และเวียดนาม นอกจากนั้น ทางตอนใต้ของจีนคือ มณฑลยูนนาน ก็สามารถปลูกยางในเขตเมืองหนาวได้แล้วเช่นกัน จึงเป็นบทความที่บ่งบอกถึงการเกิด Over Supply ปริมาณยางธรรมชาติในรูปของวัตถุดิบก่อนการแปรรูปคงค้างสต๊อกถึง 2 ล้านตันต่อปี ในอนาคตอันใกล้นี้
วงจรยางพารา
เมื่อทราบถึงปัญหาวิกฤตยางดังกล่าว แนวทางการแก้ไขจะเป็นเช่นไร คงต้องแบ่งจำแนกออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งก็ทราบกันดีอยู่แล้วคือ
1. ต้นน้ำ = การเพาะปลูกต้นยางพาราของชาวเกษตรกร ซึ่งคือ น้ำยางสด ยางถ้วย เศษยาง โดยจำกัดความเป็น "วัตถุดิบเบื้องต้น"
2. กลางน้ำ = การผลิตยางพารา ของโรงงานผลิตยางแท่ง และผลิตยางอื่นๆ ซึ่งก็คือ ยางแท่ง ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ยางเครป ยางคอมปาวด์ และยางคอมปาวด์เคมี โดยจำกัดความเป็น "วัตถุดิบก่อนการแปรรูป"
3. ปลายน้ำ = การแปรรูปยางวัตถุดิบของกลางน้ำ ซึ่งก็คือ ยางล้อรถ สายพานลำเลียง พื้นรองเท้า ถุงมือยาง ยางรัดของ และอื่นๆอีกมากมาย โดยจำกัดความเป็น "ผลิตภัณฑ์ยาง"
โดยส่วนใหญ่ การแก้ปัญหาราคายางพาราของหน่วยงานรัฐ มักจะแก้ไขจาก ต้นน้ำ เป็นหลัก รองลงมาคือ กลางน้ำ สุดท้ายมาจบที่ ปลายน้ำ ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็จะเกิดการประท้วงจากกลุ่มคนต้นน้ำ ทำให้ต้องคอยไปอุ้มคนต้นน้ำอยู่เสมอ พอจะแก้ไข กลางน้ำ ก็โดนหาว่าไปอุ้มกลุ่มนายทุนเสียมากกว่า การช่วยเหลือ กลุ่มคนต้นน้ำ เมื่อพอพูดถึง กลุ่มปลายน้ำ ส่วนใหญ่ก็เป็น โรงงานแปรรูปยาง ของเอกชน เกือบ 100% และต้องมองถึงผลประโยชน์ภายในองค์กรก่อนเสมอเป็นหลัก ทำให้ หน่วยงานรัฐไม่สามารถไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโนบายของ กลุ่มปลายน้ำ และ กลางน้ำได้เลย ฉนั้นการจัดการแก้ไขให้กับ กลุ่มต้นน้ำจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าแต่ไม่ยั่งยืน เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งไม่สามารถไปบังคับกลไกชี้นำราคาของตลาดหุ้นยางได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ราคารับซื้อภายในไทยสูงจริง แต่ราคาตลาดยางโลก ไม่ได้ขยับขึ้นตามราคาชี้นำภายในไทยเลยแม้แต่น้อย
การเริ่มต้นแก้ปัญหาจาก "ปลายน้ำ"
แนวทางการแก้ไขจากทัศนคติในส่วนตัว ควรที่จะต้องเริ่มต้นจากกลุ่ม ปลายน้ำ เสียก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องไม่ง่ายและก็ไม่ยากเช่นกัน เมื่อหน่วยงานรัฐบาล ถูกมอบหมายให้แก้ไขปัญหาราคายางทั้งระบบ ให้มีการปฎิรูปวงการยางพาราไทยให้เป็นรูปธรรมและต้องยั่งยืน จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยในการต้องลงมาจัดการ บริหาร ปลายน้ำ เป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันจากข่าวสารทั่วไป พูดถึงการทำพื้นถนน การทำสนามฟุตบอล โดยใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมหลัก ก็มีให้เห็นแต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการแก้ไขเนื่องจากต้นทุนที่ทำสูงมากๆ ไม่สามารถรับซื้อยางพาราจากชาวสวนได้ทั้งประเทศ ได้เฉพาะกลุ่มคนต้นน้ำเพียงจุดเล็กๆเท่านั้น
การตลาดโดยหน่วยงานรัฐ
เมื่อแนวทางการแก้ไขปัญหาคือ ปลายน้ำ แล้วหน่วยงานรัฐควรสนับสนุน ผลิตภัณฑ์ยาง ชนิดไหนทำออกสู่ตลาด โดยเริ่มต้นจากหน่วยงาน สังกัดของภาครัฐเป็นหลักก่อน โดยปัจจุบันมีกระทรวงหรือเทียบเท่าจำนวนทั้งสิ้น 20 กระทรวง
โดยทั้ง 20 กระทรวงได้งบประมาณประจำปี อยู่ทุกๆปี และมีการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์เข้ามาใช้ในกระทรวง ทบวง กรม ทั้งสิ้น โดยทำการสำรวจรายจ่ายที่จัดซื้อจัดหาที่มีส่วนผสมที่ทำมาจากยางธรรมชาติ ว่ามีกี่รายการและราคาเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น
กระทรวงกลาโหม จัดซื้อรองเท้าบู๊ต หมอนและที่นอนยางพารา สำหรับกองทหารหลายๆสังกัด เพื่อสุขภาพของทหาร จากการพัฒนาหมอนและที่นอนทำจากยางพาราเป็นหลัก เสริมสร้างช่วยให้ทหาร หรือทหารเกณฑ์ มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ได้อีกทางนึง
กระทรวงศึกษาธิการ จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนที่ทำจากยางพารา ได้แก่ ยางลบ รองเท้า พื้นสนามกีฬา และอื่นๆ
กระทรวงสาธารณะสุข จัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ได้แก่ อุปกรณ์ต่างๆ ในโรงพยาบาลรัฐ หมอน ที่นอน ถุงมือยาง อุปกรณ์การช่วยเหลือพยาบาล และอื่นๆ ที่ทำจากยางพารา
จากนั้นให้เช็คปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์จากมากสุดไปหาน้อยสุด เพื่อเริ่มต้นทำโครงการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่หน่วยงานรัฐใช้มากที่สุดเป็นหลัก นำมาคำนวณหาปริมาณที่ใช้ยางธรรมชาติกี่เปอร์เซ็นต์และ วัตถุดิบผสม อัตราส่วนเท่าไหร่ ซึ่งสามารถขายได้ราคาที่ถูกกว่าจัดซื้อมาในแต่ละปี เนื่องจาก รับซื้อยางจากชาวสวนเอง ผลิตสินค้าเอง กำหนดราคาเอง เป็นต้น
บทสรุปของ "ปลายน้ำ"
ฉนั้น การนำร่องผลิตภัณฑ์ยางชนิดไหน ให้ดูจากการใช้ยางของแต่ละกระทรวงเป็นหลัก โดยให้ กระทรวงเกษตร เป็นผู้นำร่อง โรงงานการแปรรูปยาง เพื่อการใช้ประโยชน์ในหน่วยงานของรัฐบาลไทย หรือ นำแนวทางการแปรรูปยาง เป็นผลิตภัณฑ์ยาง ให้กับ กลุ่มสหกรณ์ชุมชน ในแต่ละเขตอำเภอ จังหวัด เป็นตัวแทนในการทำโรงงานแปรรุป เป็นผลิตภัณฑ์เสียเอง โดยการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวให้แก่กลุ่มสหกรณ์แต่ละท้องที่ และให้รับซื้อยางจากชาวสวนยางโดยตรง ในราคาที่สูงกว่าตลาดกลางยางพาราไทย โดยหน่วยงานรัฐเป็นผู้รับผิดชอบรับซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางโดยตรง เพื่อเก็บสินค้าไว้จำหน่ายให้แก่ หน่วยงานรัฐของกระทรวงต่างๆ เปรียบเสมือน หน่วยงานรัฐเป็นผู้สนับสนุนการแปรรูปยางพร้อมทั้งเป็นตลาดรับซื้อผลิตภัณฑ์ยางในคราวเดียวกัน
นอกเหนือจากที่สหกรณ์ได้แปรรูปยางส่งขายผลิตภัณฑ์ยางให้กับรัฐแล้ว หน่วยงานรัฐยังสามารถนำสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ยาง หาตลาดส่งขายออกไปต่างประเทศได้เช่นกัน นั่นคือการสร้างชื่อเสียง ผลิตภัณฑ์ยาง ในแบนด์ของ รัฐบาลไทย ในอนาคต หรือ กลุ่มสหกรณ์ยางเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ทำตลาดส่งขายออกทั่วโลกได้เช่นกัน
เมื่อพูดถึง การทำผลิตภัณฑ์ยางแต่ละชนิด จำเป็นต้องมีกรรมวิธีในการผลิตที่ซับซ้อนและแตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่ใช่ปัญหาสำหรับนักวิชาการ หรือผู้มีประสบการณ์ ด้านการแปรรูปยางมาหลายชนิด จึงต้องมีทีมวิจัย วัตถุดิบผสม การวางแผน การบริหาร การตลาด ถ่ายทอดให้แก่ กลุ่มสหกรณ์เพื่อการแปรรูป โดยตรง ขอสงวนสิทธิ์รายละเอียดดังกล่าว
การแก้ปัญหายางพาราจาก "กลางน้ำ"
ปัจจุบันอุตสาหกรรมกลางน้ำ ของหน่วยงานรัฐ คือ องค์การสวนยาง หรือ อสย. จากการอนุมัติโครงการมาตั้งแต่ปี 2539 แต่ได้เริ่มและสร้างเสร็จในปี 2554 แต่ก็ยังไม่สามารถรันเครื่องจักรผลิตยางได้ในทันที ต้องปรับปรุงและแก้ไขเครื่องจักรกลอยู่เป็นปี ถึงปัจจุบันดำเนินการในการผลิตยางได้เพียง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการอนุมัติโครงการคือปี 2539 ในเอกสารจัดซื้อจัดหาเครื่องจักรผลิตยางพาราเป็นรุ่นและรหัสเมื่อสมัยนั้น จำเป็นต้องนำเข้ามาติดตั้งให้ได้ตามเอกสารที่กำหนด ผลที่ออกมาคือ เครื่องจักรผลิตยางพารา ของ อสย. ในปัจจุบันเป็นรุ่นเก่าที่ไม่มีความทันสมัยพอในการผลิตยางแท่ง STR20 ได้มาตรฐานทั้งหมด นอกจากนี้พื้นที่ในการสร้างโรงงานค่อนข้างเล็กกว่าโรงงานยางแท่งของเอกชนทั่วๆไป จึงไม่มีเนื้อที่เก็บสต๊อกยางวัตถุดิบและยางแท่งได้ดีพอ ส่วนเรื่องการรับจ้างผลิต กิโลกรัมละ 5.60 บาท/กิโลยางแห้ง ก็เป็นอีกปัญหาซึ่งต้องมีการแก้ไขปรับปรุง โดยปกติต้นทุนการผลิตยางแท่งอยู่ในช่วง 2.80 - 3.50 บาท/กิโลกรัม เท่านั้น
สาเหตุที่ต้องมีการรับจ้างผลิตจากข้อมูลได้ทราบมาบ้าง อสย.ไม่มีเงินรับซื้อยางวัตถุดิบเบื้องต้นจากชาวสวนยาง จึงรับยางจากชาวสวนยาง บริษัท หรือยางวัตถุดิบจากสหกรณ์ต่างๆ มารับจ้างผลิตเป็นครั้งๆไป และเก็บสต๊อกเพื่อรอการส่งออกไปขายที่ประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในบางครั้งการผลิตยางแท่ง STR20 รอจำหน่าย ในความคิดส่วนตัวเห็นว่า กลุ่มสหกรณ์หรือบริษัท จ้างผลิตไปไม่สามารถส่งออกขายได้ในทันที มีความเสี่ยงสูงในการขาดทุนมากจากราคาตลาดยางที่ผันผวน บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมเข้าไปอีก มีความเป็นไปได้ถึง 80% ที่มีโอกาสขาดทุนแน่นอน
จากสาเหตุสำคัญที่ยางแท่ง STR20 ผลิตโดย อสย. ไม่สามารถจำหน่ายส่งออกไปยังประเทศจีนได้ เนื่องจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่ประเทศจีน มีความสนใจรหัสโรงงานยางแท่งเป็นหลัก เปรียบเสมือนยี่ห้อของยางแท่ง STR20 เลยก็ว่าได้ ถ้าเป็นรหัสโรงงานที่มีชื่อเสียงอย่าง 5 เสือยางพาราไทย ทางผู้ซื้อย่อมจะมั่นใจในการเปิด LC มาทันที โดยได้ราคา FOB ท่าเรือกทม. และราคา CIF ท่าเรือชิงเต่า ในราคาที่ดี จากชื่อเสียงของ 5 เสือยางพาราไทยนั้น ทางประเทศจีนให้การยอมรับมั่นใจในคุณภาพยางแท่ง STR20 เป็นอย่างมาก เมื่อกลับมามองมุมของผู้จ้าง อสย. ผลิตโดยรหัสโรงงานคือ B4 และ B5 โดยส่วนตัวของผู้เขียนเคยส่งตัวอย่างยางแท่ง STR20 ไปทางจีนขนาด 35kg. เพื่อให้ตรวจสอบถึงขนาดของยางแท่ง และนำเข้าแล็บวิจัยมาตรฐาน TSR ผลออกมาคือไม่ผ่านคุณสมบัติยางแท่ง TSR ยังคงมีสิ่งเจือปนและขี้เถ้าสูง ทั้งๆที่ผลแล็บจากกรมวิชาการเกษตรไทยบอกว่าผ่าน ฉนั้นในส่วนของ อสย. ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่การรับซื้อ การเก็บ การบ่มยาง การเข้าผลิต เครื่องจักรที่ผลิต เตาอบยาง และการบรรจุหีบห่อ อีกครั้งนึง
มุมมองส่วนตัวของปัญหา อสย.
องค์กรสวนยาง หรือ อสย. เป็นโรงงานผลิตยางแท่ง CPR20 และ STR20 เป็นหลักซึ่งก็มีความสามารถทำได้เพียงแค่ยางแท่ง CPR20 STR20 และ STR10 ซึ่งสเป็กใกล้เคียงกัน แตกต่างกันในเรื่อง ค่า Dirt, Ash, Volatile matter, Nitrogen, Mooney, PO, PRI, Lovibond colour เพียงเล็กน้อย และ อสย. ในภาคอีสานมีอยู่เพียง 3 แห่ง ได้แก่ นครพนม อุดรธานี และศรีสะเกษ เป็นที่รู้จักกันดีในภาคอีสาน ชาวสวนยางทั่วไปไม่สามารถอาศัยพึ่งพาในการนำยางไปขายให้ อสย. ได้เลยแม้แต่น้อย (ไม่นับโครงการกองทุนมูลภัณฑ์กันชนเพื่อเข้าซื้อยางในตลาดกลางยางพาราในราคาชี้นำตลาดซึ่งจะไม่สามารถทำได้ตลอด) เพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางของชาวสวนยางได้เอง ชาวสวนยางจึงเลือกไปขายให้กับโรงงานผลิตยางแท่งของ 5 เสือยางพาราไทย เป็นหลัก ถึงแม้ว่า อสย.จะมีเงินทุนในการรับซื้อยางจากชาวบ้านเองก็ตามทีแต่หลังจากผลิตเป็นยางแท่งที่มีคุณภาพในระดับที่สากลยังไม่ยอมรับก็ยากที่จะทำตลาดขายส่งออกไปยังต่างประเทศเช่นกัน สิ่งที่ องค์การสวนยางขาด ก็คือ
1. เงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางจากชาวสวนยางโดยตรง
2. คุณภาพยางและชื่อเสียงโรงงานผลิตยางแท่ง ยังไม่ได้การยอมรับ
3. การรับซื้อยางชาวสวนยาง ยังไม่มีระบบการจัดการที่มีความยุติธรรมพอ ที่จะให้ชาวสวนยางเชื่อถือ
4. อสย.ผลิตยางได้เพียง ยางแท่ง STR20 STR10 และ CPR20 (ยางคอมปาวด์ธรรมชาติเบอร์20) เท่านั้น
5. การรับจ้างผลิตในราคา 5.60 บาท/กิโลกรัมแห้ง ยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร
6. การผ่านบริษัทนายหน้ารับจ้างผลิตยางใน อสย.อาจเป็นตัวถ่วงในการรับจ้างผลิตในราคา 5.60 บาท
7. ตลาดขายส่งออกยังตกเป็นรอง 5 เสือยางพาราไทยอยู่มาก
8. ห้องแล็บวิจัยยางภายใน อสย. ยังไม่สามารถออกใบอนุญาติมาตรฐาน STR20 เองได้ ต้องส่งไปกรมวิชาการเกษตรเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติยางอีกทีนึง (จากที่ดู อสย.สาขาอุดรธานี)
การแก้ปัญหา อสย. ในมุมมองส่วนตัว
1. ควรมีงบประมาณการรับซื้อยางวัตถุดิบให้กับ อสย. โดยต้องซื้อจากชาวสวนยางโดยตรง
2. บริหารจัดการ การรับซื้อยางวัตถุดิบเบื้องต้น ให้ DRC และราคาที่โปร่งใสตามความเป็นจริง
3. การทำโรงงานผลิตยางแท่ง อสย. ให้สามารถผลิตยางชนิดอื่นๆได้เพิ่มเติม เช่นการผลิตยาง คอมปาวด์เคมี (อัตราส่วนที่ 95%, 88%) และการทำยางเครปคุณภาพเพื่อการส่งออกในรูปแบบวัตถุดิบ
4. ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องจักรผลิตยางพาราใหม่ทั้งหมด ปัจจุบันกำลังการผลิตได้แค่ 5 ตัน/ชั่วโมง ควรจะเปลี่ยนให้ได้ 10-16 ตัน/ชั่วโมง และควรที่จะทำงานได้ 24 ชั่วโมง จึงจะเพียงพอต่อการรับซื้อยางจากชาวสวนยางได้ทันปริมาณ
5. แก้ไขการวางไลน์เครื่องผลิตยางแท่งของ อสย. เป็นในรูปแบบเก่า ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องจักรทั้งระบบด้อยลงตามไปด้วย
6. เมื่อ อสย. มีงบประมาณรับซื้อยางจากชาวบ้านเองแล้วให้ยกเลิกการรับจ้างผลิต เนื่องจากไม่มีช่องว่างในการรับจ้างผลิตแล้ว
7. การตลาดและการส่งออก โดยสร้างคุณภาพยางมาตรฐานรหัสโรงงานของ อสย. ให้เป็นที่รู้จักในการขายในตลาดโลก และทำการตลาดขายยางให้ได้หลากหลายชนิด ตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งได้ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องเป็นยางแท่ง STR20 เสมอไป แต่ทำตลาดขาย STR10, CPR20(100%), CPR(88%), CPR(95%), STR CV60, Crepe Rubber Sheet ควบคู่หลายๆอย่างไปด้วย
8. สำหรับโรงงาน อสย. ซึ่งเป็นของหน่วยงานรัฐ และตั้งเป้าให้เป็นโรงงานรับซื้อยางชาวสวนยางโดยตรง การให้ราคาตามความจริงของ DRC ตามราคาตลาดกลาง มีความโปร่งใสยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยให้สิทธิพิเศษในการส่งออกยางทุกชนิดของ อสย. ได้มีการยกเว้นเก็บเงินค่า Cess หรือเงินสมทบการทำสวนยาง เพื่อนำเงินดังกล่าวมารับซื้อยางชาวสวนยางให้สูงขึ้นและยุติธรรมโปร่งใสมากขึ้นไปด้วย
บทสรุปของ "กลางน้ำ"
การทำกลางน้ำ โดยอาศัย อสย. เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ ไปยังการทำระบบ ปลายน้ำ ในบางส่วน สลับกับการทำตลาดส่งออกยางที่ผลิตจากโรงงานองค์การสวนยาง ไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศจีน เช่น รัสเซีย โซนแอฟริกา และโซนตะวันออกกลาง ให้มากขึ้น เพื่อลดปริมาณ Supply ภายในประเทศให้ได้รวดเร็วมากขึ้นไปอีก เมื่อสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของ ปลายน้ำ และ กลางน้ำ ได้ผลที่ออกมาคือ ประเทศจีนซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเรา จะมีโอกาสขาดแคลนยางวัตถุดิบทุกชนิดจากไทยไปทีละน้อย เป็นผลทำให้ Demand ในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ราคายางตลาดโลกยกระดับสูงขึ้นตามไปด้วย
การแก้ปัญหายางจาก "ต้นน้ำ"
จากการแก้ไขปัญหายางพาราของหน่วยงานรัฐที่ผ่านมา บ่งบอกถึงการพยายามทำให้ชาวสวนยาง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิดในโลกนี้ ให้อยู่รอดจากราคายางที่ตกต่ำของตลาดยางโลก ตามหลักความเป็นจริงแล้วยางพาราไม่ได้มีแต่เฉพาะในประเทศไทยประเทศเดียว ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้านเรา คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมไปถึง กลุ่ม CLMV อินเดีย จีน ก็มีการปลูกยางมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ Supply คือปริมาณของความต้องการที่จะขายมากขึ้นเป็นพิเศษตาม แซงหน้า Demand ความต้องการซื้อ ซึ่งมีความต้องการที่จะซื้อขึ้นไปตามลำดับของความต้องการของตลาดโลกที่เป็นตัวชี้นำ จึงไม่แปลกที่ราคายางพาราในปัจจุบันจะตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะ Supply สูงกว่า Demand ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมปลายน้ำแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์ กำลังการผลิตมีขอบเขตจำกัด และต้องผลิตตามสินค้าที่ตลาดโลกต้องการในปริมาณที่ไม่แน่นอน ในขณะเดียวกัน Supply อย่างยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ยางคอมปาวด์ น้ำยางข้น มีการผลิตออกมาต่อวันในปริมาณที่สูงมากๆ จน อุตสาหกรรมปลายน้ำ ต้องชะลอการสั่งซื้อเข้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เมื่อราคายางโลกสูงขึ้น และมีการเก็บสต๊อกวัตถุดิบก่อนการแปรรูปเยอะขึ้น จึงทำให้ Demand ในการสั่งซื้อน้อยลง แต่ที่ยังขายกันได้อยู่เพราะราคายาง ณ ตอนนี้ตกต่ำถึงขีดสุด อุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ จึงยังซื้อเข้ามาสต๊อกไว้เรื่อยๆ เพราะราคาในปัจจุบันถูกมากและทำกำไรได้ดี เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ยางที่แปรรูปเป็นสินค้าแล้ว ราคาขายสินค้ากับไม่ลดลงเลย มีแต่ราคาสินค้าสูงขึ้น จึงเป็นความได้เปรียบและโอกาสของ ปลายน้ำเกิน 100% และ กลางน้ำเกิน 50% ที่ยังคงเข้าซื้อยางอยู่ แต่ในทางกลับกันปัญหากับมาตกที่ต้นน้ำผลที่จะได้กลายเป็นความเสี่ยงสูงในการติดลบ เป็นผลเสียเปรียบอยู่ฝ่ายเดียว ฉนั้น สิ่งที่ "ต้นน้ำ" ต้องทำและรอคอย คือ
1. สนับสนุนการขายยางวัตถุดิบเบื้องต้นให้แก่ อสย. หรือ อุตสาหกรรมกลางน้ำ สามารถรับซื้อกับกลุ่มคนต้นน้ำได้แล้ว เมื่อระบบสำเร็จ
2. สนับสนุนกลุ่มสหกรณ์โดยการขายยางวัตถุดิบก่อนการแปรรูปให้กับ หน่วยงานรัฐ สหกรณ์ หรือ อุตสาหกรรมปลายน้ำ เมื่อระบบสำเร็จ
3. เรียนรู้การผลิตยางเบื้องต้นให้มีคุณภาพสามารถ ทำส่งออกยางวัตถุดิบได้เอง ไปยังโรงงานผลิตยางกลางน้ำ ของต่างประเทศ
4. ผันตัวเองเป็นผู้ผลิตยาง กลางน้ำ เพื่อส่งขายให้อุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้โดยตรงและจำเป็นต้องมีคุณภาพที่สูงกว่าเพื่อรอการเข้าแปรรูปเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง
5. สำหรับชาวเกษตรกรชาวสวนยาง ต้องการผลิตยางวัตถุดิบเพื่อการส่งออกเองโดยตรงให้สอดคล้องกับการช่วยเหลือกลุ่มคนต้นน้ำ หน่วยงานรัฐต้องยกเว้นค่า Cess และค่าพิธีการต่างๆที่อาจทำให้ต้นทุนของชาวสวนยางสูงขึ้น โดยสามารถส่งออกในนามสหกรณ์หรือบริษัทที่มาจากกลุ่มต้นน้ำจึงได้สิทธิพิเศษดังกล่าว
6. ระหว่างรอการเปลี่ยนแปลงของระบบ กลางน้ำและปลายน้ำ สำเร็จ ให้หน่วยงานรัฐประสานติดต่อกับโรงงานรัฐวิสาหกิจของจีน และ โรงงานรัฐวิสาหกิจของมาเลเซีย เพื่อเป็นการันตีปริมาณยาง การซื้อ การขาย การจ่าย การโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อที่ให้ กลุ่มชาวสวนยาง สหกรณ์ บริษัท ได้นำส่งขายและรับการชำระเงินได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งโรงงานรัฐวิสาหกิจของจีน มีความต้องการวัตถุดิบเบื้องต้น เพื่อนำไปผลิตยางแท่งที่มีคุณภาพสูงกว่า STR20 ของบ้านเรา ในปริมาณหลักแสนตันต่อปีต่อโรงงาน
บทสรุปของ "ต้นน้ำ"
สภาวะราคายางตลาดโลกตกต่ำลงต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ตกอยู่ที่ไทยประเทศเดียวเท่านั้น แต่ประเทศผู้ปลูกยางพาราก็มีผลกระทบเช่นเดียวกัน ประเทศที่มีกระทบน้อยก็คือ ประเทศจีน และอินเดีย ซึ่งมีการปลูกยางไม่สูงมากเท่ากับอาเซียน ทั้งจีนและอินเดีย ก็มีอุตสาหกรรมปลายน้ำค่อนข้างหลากหลาย ที่เรียกว่า "ปลายน้ำแข็งแรง" "กลางน้ำพอใช้" "ต้นน้ำอ่อนแอ" จึงมีการนำเข้ายางวัตถุดิบก่อนการแปรรูป ไปยังประเทศจีน และอินเดีย มาก ฉนั้นปัญหายางพาราภายในไทยจึงเรียกได้ว่า "ปลายน้ำอ่อนแอ" "กลางน้ำแข็งแรง" "ต้นน้ำแข็งแรงมาก" ถึงแม้ว่าปลายน้ำยังคงอยู่กับที่ ก็จะมีแต่กลางน้ำที่ทำส่งออกในปริมาณยางที่สูงมากเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ ในขณะเดียวกันปลายน้ำถึงจะอ่อนแอแต่ใช้ปริมาณยางน้อยมากแต่ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกได้สูงกว่ากลางน้ำหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับจำนวนยางที่นำมาใช้ในการส่งออก ความบาลานซ์ของ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จึงไม่มี เพราะยางส่งออกส่วนใหญ่มาจาก กลางน้ำถึง 80% แต่ยางบ้านเราไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศจีนได้มากมายกว่าหลายเท่าตัวนัก
ดังนั้น ลองยกอุตสาหกรรมปลายน้ำของจีนทั้งหมดหรือแค่ครึ่งนึง มาลงที่ประเทศไทย และเป็นของคนไทยเอง โดยที่เรามีกลางน้ำที่แข็งแรง และต้นน้ำที่แข็งแรงมาก อยู่แล้ว เศรษฐกิจในภาพรวมของไทยที่ มียางพาราเยอะที่สุดในโลก ผลิตยางเยอะที่สุดในโลก และแปรรูปทำส่งออกได้เยอะที่สุดในโลก จึงถือว่ายางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งอย่างแท้จริง และมากกว่าสินค้าทางการเกษตรทุกชนิดเลยก็ว่าได้
แนวทางการจับคู่
1. ต้นน้ำ------>ปลายน้ำ------>ส่งออก
กล่าวคือ การผลิตยางจากชาวสวนยางโดยตรงโดยการเก็บน้ำยางสด นำมาทำเป็นยางแผ่นดิบตากแห้ง ยางแผ่นรมควัน และยางถ้วย นำมาทำเป็น แผ่นยางเครปคุณภาพ ส่งขายให้กับอุตสาหกรรมปลายน้ำ เพื่อแปรรูปเป็น สายพานลำเลียง พื้นรองเท้า และอื่น ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้วทำการขายให้กับหน่วยงานรัฐภายในประเทศซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่ายางได้ถึง 2-8 เท่าตัว พร้อมกับทำตลาดนำเสนอส่งออกขายสินค้าในนามรัฐบาลไทย
2. กลางน้ำ------>ปลายน้ำ------->ส่งออก
กล่าวคือ การนำยางที่ผลิตจาก โรงงานของหน่วยงานรัฐคือ อสย. หรือ โรงงานขนาดเล็ก โรงงานขนาดกลาง ที่ผลิตเป็น แผ่นยางเครปคุณภาพ ยางแท่ง ยางคอมปาวด์ ส่งขายให้กับ อุตสาหกรรมปลายน้ำ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางทำการขายให้กับหน่วยงานรัฐภายในประเทศ และทำตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศในนามสินค้าจากรัฐบาลไทย
3. ต้นน้ำ ------>ส่งออก
กล่าวคือ การนำน้ำยางสด ยางถ้วย เศษยาง ขี้ยาง จากชาวสวนยางผลิตเองเป็น ยางแผ่นดิบตากแห้ง ยางแผ่นรมควัน ยาง ADS ยางเครปขาว ยางเครปคุณภาพ ส่งขายให้กับ โรงงานผลิตยางแท่งต่างประเทศ ซึ่งมีราคารับซื้อที่สูงกว่าโรงงานยางแท่งภายในประเทศ 8-14 บาท/กิโลกรัม เพียงแต่ติดอุปสรรคค่าพิธีการ ค่า Cess จากหน่วยงานรัฐของไทย และเมื่อสินค้าส่งเข้าไปโรงงานผลิตยางแท่งที่จีนแล้วจะต้องเสียค่าโควต้าเข้าไปจีนเพิ่มเติม แต่ก็เป็นผลทำให้ราคายังคงสูงกว่าขายภายในไทย 5-10 บาท/กิโลกรัมอยู่ดี ถ้าตัดค่าใช้จ่ายภายในประเทศก่อนชาวสวนยางหรือสหกรณ์ก่อนส่งออก ก็สามารถสร้างราคาได้สูงขึ้นไปอีก
4. กลางน้ำ------>ส่งออก
กล่าวคือ การผลิตยางแท่ง ยางแผ่นดิบอบแห้ง ยางเครปขาวอบแห้ง ยางเครปคุณภาพตากแห้ง น้ำยางข้น ของโรงงาน อสย. ซึ่งเป็นของหน่วยงานรัฐ และรับซื้อยางจากชาวสวนยางโดยตรง พร้อมนำมาผลิตยางอื่นๆ ที่นอกเหนือจากยางแท่ง STR20 เช่น ยางคอมปาวด์NR100% ในรหัส CPR20 ยางคอมปาวด์เคมีสัดส่วน 95%,88% ยางแท่ง STR CV60, STR CV50 เพื่อทำการตลาดส่งออกในนามของโรงงานรัฐบาลไทยเป็นผู้ผลิตเองโดยตรง
หมวดอุตสาหกรรมปลายน้ำ 1 โรงงานแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางได้ 10 ชนิด
อุตสาหกรรมผลิตสายพานลำเลียง เป็นหลัก สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มเติมดังนี้
1. สายพานลำเลียง ทุกชนิด
2. บังโคลนรถ
3. ยางท้องเรือชูชีพ
4. ยางปูสระน้ำ
5. ยางล้อตัน สำหรับโฟร์คลิฟท์
6. ผ้ายางปูพื้นรถ
7. สายพานส่งกำลัง
8. ยางรับแรงสั่นสะเทือน
9. ยางรองฐานตึก
10. ยางกันชนท่าเรือ
อุตสาหกรรมผลิตหมอนที่นอนยางพารา เป็นหลัก สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มเติมดังนี้
1. หมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ
2. ที่นอนยางพาราเพื่อสุขภาพ
3. โฟมยาง
4. ฟองน้ำ
บทสรุปโดยรวม
ภาคอุตสาหกรรม "ปลายน้ำ" คือการสนับสนุนการแปรรูปยางทั้งระบบให้เป็นแบบแผน การก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา 1 แห่ง ให้สามารถผลิตแปรรูปยาง ให้ได้สินค้าได้หลากหลายชนิดใน 1 โรงงาน แต่เป็นแนวทางในไลน์ผลิตเดียวกันเครื่องจักรชนิดเดียวกัน สามารถสร้างสรรงาน ผลิตภัณฑ์ยางได้มาตรฐาน มีคุณภาพในระดับสากล
ภาคอุตสาหกรรม "กลางน้ำ" โดยปกติโรงงานผลิตยางแท่ง และโรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน โดยทั่วๆไป จะตั้งโรงงานผลิตยางวัตถุดิบก่อนการแปรรูป เพียงชนิดเดียว ทำให้เสียโอกาสในการทำตลาดในการส่งออกน้อยลงตามไปด้วย จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน อุตสาหกรรมกลางน้ำ ให้สามารถผลิตยางวัตถุดิบก่อนการแปรรูปได้ ให้ได้หลายชนิดด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตยางแท่ง อสย. เดิมทีผลิตยางแท่ง STR20 CPR20 เท่านั้น ควรมีการเพิ่มเติมเครื่องจักรที่สามารถผลิตยางในบางรายได้เพื่อที่สามารถทำยางรหัสอื่น เช่น STR5L, STR CV50, STR CV60, Compound เคมี เป็นต้น จากความต้องการของตลาดยางโลก วัตถุดิบก่อนการแปรรูปแต่ละชนิดที่นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบในการแปรรูปที่แตกต่างกันออกไป จึงเห็นควรให้มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมกลางน้ำดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโรงงานผลิตยาง อสย. ให้เป็นที่ยอมรับลูกค้าในหลายๆประเทศ และให้มีชื่อเสียงในระดับสากลต่อไป
ภาควัตถุดิบเบื้องต้น "ต้นน้ำ" ปัจจุบันชาวสวนยางทั่วไป และในเขตพื้นที่แต่ละภูมิภาค มีการสร้างวัตถุดิบเบื้องต้นที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น การขาย น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย เศษยาง ขี้ยาง ยางลอกคราบ โดยขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม กลางน้ำ ในแต่ละพื้นที่ต้องการวัตถุดิบเบื้องต้นชนิดไหน ในเขตพื้นที่นั้นๆ ก็จะผลิตตามที่ อุตสาหกรรมกลางน้ำที่นั้นต้องการ จึงเป็นสาเหตุทำให้การผลิตยางวัตถุดิบเบื้องต้นก็จำกัดเฉพาะเจาะจงเพียงชนิดเดียว เมื่อหน่วยงานรัฐสามารถพัฒนา อุตสาหกรรมปลายน้ำ ควบคู่แก้ไขอุตสาหกรรมกลางน้ำไปพร้อมๆกัน ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางในหนึ่งพื้นที่สามารถสร้างวัตถุดิบเบื้องต้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางของตนเองได้ โดยมีตลาดรองรับในการรับซื้อได้ยางวัตถุดิบเบื้องต้นได้ทุกชนิดและเกิดการแข่งขันการรับซื้อยางของ อุตสาหกรรมปลายน้ำ และอุตสาหกรรมกลางน้ำ ในที่สุดแล้ว จึงจะเกิดการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบอย่างถาวรและยั่งยืนต่อไป
ผู้แชร์ประสบการณ์
บริษัท เอ็น โอเค พลัส จำกัด
นาย ธนากร พลแดง
080 3883029
Line ID : nokrubberland
E-mail : marketing.nokplus@gmail.com
Facebook : www.facebook.com/noel.kaham
]